การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ถือเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญในการจัดการกับเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นและสร้างผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์การ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เชิงลบอันจะนำไปสู่การไม่บรรลุเป้าหมาย และที่เป็นเหตุการณ์เชิงบวกอันจะนำไปสู่การแสวงหาโอกาสและความท้าทายใหม่ขององค์การ ซึ่งหากองค์การมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ย่อมทำให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และสามารถควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมทั้งสามารถสร้างคุณค่า (Value Creation) ให้แก่องค์การได้
เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 79 บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยง ประกอบกับกระทรวงการคลัง ได้กำหนดหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2562 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นกรอบหรือแนวทางพื้นฐานในการกำหนดนโยบายการจัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงของหน่วยงานของรัฐ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จึงได้จัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกสำนัก กอง กลุ่ม และหน่วยงานในสังกัด ในการวิเคราะห์และวางมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อจัดการความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ รวมทั้ง เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด